พระนครศรีอยุธยา

     ราชธานีเก่า อู่ข้าวอู่น้ำ เลิศล้ำกานท์กวี
    คนดีศรีอยุธยา เลอคุณค่ามรดกโลก

     

    ลักษณะทางภูมิประเทศ

    จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของประเทศ ตั้งอยู่ตามพิกัดยูทีเอ็ม (UTM) ระหว่างลองติจูดที่ 161936 เหนือ ถึง 156394 เหนือและระหว่างละติจูดที่ 633024 ตะวันออก ถึง 688097 ตะวันออก ห่างจากกรุงเทพมหานคร ทางถนนสายเอเซียประมาณ 75 กิโลเมตรตามทางรถไฟประมาณ 72 กิโลเมตร และทางเรือ ประมาณ 137 กิโลเมตร มีเนื้อที่รวม 2,556.64 ตารางกิโลเมตรหรือ 1,597,900 ไร่ จัดว่า เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 62 ของประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 11 ของจังหวัดในภาคกลาง  ลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา ไม่มีภูเขาและป่าไม้ มีแม่น้ำไหลผ่าน 4 สายได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก ลพบุรีและแม่น้ำน้อยรวมความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร มีลำคลองใหญ่น้อยรวม 1,254 คลองอยุธยา เป็นอาณาจักรที่มีความได้เปรียบทางสภาพภูมิศาสตร์ คือ ตั้งอยู่ที่บริเวณริมแม่น้ำ 3 สาย มาบรรจบกัน คือแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ทำให้อยุธยามีสภาพเป็นเกาะมีแม่น้ำล้อมรอบป้องกันศัตรู มีกำแพงรอบเกาะยาวประมาณ 12 กิโลเมตร ปัจจุบันกำแพงนี้ถูกทำลายลงราบกลายเป็นถนนรอบเกาะ อยุธยาเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่ทำการเพาะปลูกข้าว และยังอยู่ใกล้ทะเลพอสมควร ทำให้สามารถทำการค้าต่างประเทศได้โดยสะดวก ดังนั้นอยุธยาจึงมีลักษณะผสมผสานของการเป็นอาณาจักรในแผ่นดิน (ควบคุมการเกษตร) และอาณาจักรทางทะเล (ควบคุมการค้าทางทะเล)

    ลักษณะทางภูมิอากาศ

    ภูมิอากาศของจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีลักษณะร้อนชื้นอยู่ภายใต้ อิทธิพลของลมมรสุม  2 มรสุม คือลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในฤดูหนาวซึ่งอากาศจะเย็นและแห้งแล้งลมมรสุม ตะวันตกเฉียงใต้ในฤดูฝน  ทำให้มีฝนตกชุกเป็นเวลานาน
    อุณหภูมิสูงสุด 37.0  องศาเซลเซียส
    อุณหภูมิต่ำสุด 16.5 องศาเซลเซียส
    ปริมาณน้ำฝนรวม 1,154.3 มิลลิเมตร ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเพียง 9.9 มิลลิเมตร  ลมพัดแรงที่สุด ทิศทาง 60 องศา (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) ความเร็ว 32 นอต หรือ 59 กิโลเมตร ต่อชั่วโมงเดือนที่มีความยาวนานของแสงแดดมากที่สุด คือเดือน พฤศจิกายน เฉลี่ยวันละ 8.97 ชั่วโมง เดือนที่มีความยาวนานของแสงแดดน้อยที่สุด คือเดือน สิงหาคม เฉลี่ยวันละ 3.67 ชั่วโมง ความยาวนานของแสงแดดเฉลี่ยตลอดทั้งปี วันละ 6.17 ชั่วโมงเดือนที่น้ำระเหยมากที่สุดคือเดือนมกราคม เฉลี่ยวันละ 6.13 มิลลิเมตร เดือนที่น้ำระเหยน้อยที่สุดคือเดือนตุลาคม เฉลี่ยวันละ 3.79 มิลลิเมตร  ปริมาณน้ำระเหยตลอดทั้งปี วันละ 4.64 มิลลิเมตร