ประจวบคีรีขันธ์

    เมืองทองเนื้อเก้า      มะพร้าวส้มปะรด
    สวยสดหาดเขา        ถ้ำงามล้ำน้ำใจ

     

    ลักษณะทางภูมิประเทศ

    จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ตั้งอยู่ในภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย  จึงได้รับสมญานามว่า  "ประตูสู่ภาคใต้" มีพื้นที่  6,357.62  ตารางกิโลเมตร ระยะทางจากรุงเทพฯ ตามระยะทางหลวงแผ่นดินสายเอเชียหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม ประมาณ 323 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง 30 นาทีภูมิประเทศโดยทั่วไปของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  เป็นพื้นที่ราบแคบ ๆ ตามแนวฝั่งทะเลด้านตะวันออก มีความลาดเอียงจากทิศตะวันตก ตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี ลงสู่ทิศตะวันออก ด้านอ่าวไทย
    ภูมิประเทศด้านตะวันออก   บริเวณชายฝั่งทะเล  มีภูเขากระจัดกระจายทั่วไป  ทั้งบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก และบริเวณส่วนกลางของพื้นที่ ที่สำคัญเป็นแนวเทือกเขาสามร้อยยอด ซึ่งมีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 750  เมตร  ความสูงจากระดับน้ำทะเล  ชายฝั่งตะวันออก  โดยเฉลี่ยประมาณ 1-5 เมตร ความลาดชันค่อนข้างสูงนี้ทำให้เกิดลำห้วย เกาะเล็กเกาะน้อย  จำนวน  17 เกาะ เกาะสำคัญ คือ เกาะจาน และเกาะทะลุ
    ภูมิประเทศด้านตะวันออก  แนวเทือกเขาตะนาวศรี  เป็นแนวป่าไม้ตลอดแนวเขตจังหวัด  ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้ยาง ไม้ยูง ไม้ตะแบก ไม้ตะเคียน ไม้จำปา ไม้นาคบุตร

    ลักษณะทางภูมิอากาศ

    จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีฤดูกาล 3 ฤดู ดังนี้
    -ฤดูร้อน    เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม
    -ฤดูฝน      เดือนมิถุนายน-ตุลาคม
    -ฤดูหนาว   เดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์
    อุณหภูมิ  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์   มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป  อุณหภูมิสูงสุดประมาณ  37 องศาเซลเซียส ต่ำสุดประมาณ 16 องศาเซลเซียส

    ปริมาณน้ำฝน พื้นที่ที่มีโอกาสฝนตกมากเกินกว่า  120  วัน/ปี  จะอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอทับสะแกอำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย ส่วนพื้นที่ที่มีโอกาสฝนตกระหว่าง  80-120 วัน/ปี อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอกุยบุรี กิ่งอำเภอสามร้อยยอด อำเภอปราณบุรี อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอหัวหิน