เพชรบุรี

    เขาวังคู่บ้าน      ขนมหวาน
    เมืองพระ        เลิศล้ำศิลปะ
    แดนธรรมะ        ทะเลงาม

     

    ลักษณะทางภูมิประเทศ

    เพชรบุรีมีพื้นที่ 6,255.138 ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิประเทศทางด้านทิศตะวันตกเป็นป่าเขาสลับซับซ้อน มีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นเส้นกั้นอาณาเขต ระหว่างไทยกับสหภาพพม่า เฉพาะในเขตจังหวัดเพชรบุรีมีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบ ไปจนจดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งมีความยาวจากเหนือจดใต้ประมาณ 80 กิโลเมตร พื้นที่ของจังหวัดเพชรบุรีมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี มีความยาวตลอดสาย 227 กิโลเมตร แม่น้ำบางกลอยมีความยาว 44 กิโลเมตร และแม่น้ำบางตะบูน มีความยาว 18 กิโลเมตร ประชากรจังหวัดเพชรบุรี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักมีการทำนา สวนผลไม้ ทำน้ำตาลโตนด เลี้ยงสัตว์ และ ทำการประมงพื้นที่ด้านตะวันตกเป็นป่าไม้และภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นเส้นกั้นอาณาเขตระหว่างไทยกับพม่า เฉพาะในเขตจังหวัดเพชรบุรีมีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร แม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี มีความยาวตลอดสาย 227 กิโลเมตร แม่น้ำบางกลอย มีความยาว 44 กิโลเมตร และแม่น้ำบางตะบูน มีความยาว 18 กิโลเมตร มีประชากรอาศัยหนาแน่นทางตะวันออกของพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล ลักษณะภูมิประเทศจังหวัดเพชรบุรี แบ่งเป็น 3 เขต คือ
    ก. เขตภูเขาและที่ราบสูง อยู่ทางด้านตะวันตกของจังหวัดติดกับพม่าในบริเวณอำเภอแก่งกระจานและอำเภอหนองหญ้าปล้อง มีภูเขาสูงและเป็นบริเวณที่สูงชันของจังหวัด มีลักษณะเป็นเทือกเขาทอดยาวจากเหนือมาใต้ พื้นที่ถัดจากบริเวณนี้จะค่อย ๆ ลาดต่ำลงมาทางด้านตะวันออก บริเวณนี้เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี
    ข. เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ บริเวณตอนกลางของจังหวัดซึ่งอุดมสมบูรณ์ที่สุด มีแม่น้ำเพชรบุรีซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน และมีเขื่อนแก่งกระจานและเขื่อนเพชรบุรีซึ่งเป็นแหล่งน้ำระบบชลประทาน บริเวณนี้เป็นเขตเกษตรกรรมที่สำคัญของจังหวัด เขตนี้คือบริเวณบางส่วนของอำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ อำเภอบ้านลาด อำเภอบ้านแหลม และอำเภอเขาย้อย
    ค. เขตที่ราบฝั่งทะเล อยู่ทางด้านตะวันออกของจังหวัด ติดกับชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย บริเวณนี้นับเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งของจังหวัดในด้านการประมง การท่องเที่ยว เขตนี้ได้แก่ บางส่วนของอำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอบ้านแหลม อำเภอท่ายาง และอำเภอชะอำ ลักษณะพื้นที่ชายฝั่งเพชรบุรี เหนือแหลมหลวงไปทางทิศเหนือเป็นพื้นที่ชายฝั่งหาดโคลน มีระบบนิเวศป่าชายเลน ด้านทิศใต้ของแหลมหลวงลงไปด้านทิศใต้เป็นหาดทราย มีระบบนิเวศเป็นหาดทราย แหลมหลวงซึ่งอยู่ในพื้นที่ตำบลแหลมผักเบี้ยจึงเป็นแหลมที่แบ่งระบบนิเวศป่าชายเลน ออกจากระบบนิเวศหาดทราย เหนือแหลมหลวงขึ้นไปด้านทิศเหนือมีลักษณะเป็นหาดโคลนเพราะอยู่ใกล้พื้นที่ชุมน้ำของแม่น้ำสายใหญ่ ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำบางตะบูน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง เมื่อฤดูน้ำหลากน้ำจากแม่น้ำได้พัดพาตะกอนลงสู่ทะเลเป็นจำนวนมาก จึงส่งผลให้พื้นที่ของชายฝั่งแถบนี้มีตะกอนในน้ำสูง ส่งผลให้ชายฝั่งมีโคลนจำนวนมาก ซึ่งเหมาะแก่ระบบนิเวศป่าชายเลน เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล บริเวณอ่าวไทยในเขตอำเภอบ้านแหลมถือว่าเป็นอ่าวที่พบหอยหลากชนิด เช่น หอยเสียบ หอยปากเป็ด หอยตระกาย หอยตลับ หอยหลอด หอยแครง เป็นต้น โดยเฉพาะหอยแครง เป็นแหล่งที่พบมากที่สุดในโลก ภายหลังได้มีการตัดไม้ป่าชายเลนนำไปเผาถ่าน ทำลายป่าเพื่อทำนากุ้งกุลาดำ จึงส่งผลให้ป่าชายเลนถูกทำลายเป็นจำนวนมาก

    ลักษณะทางภูมิอากาศ

    จังหวัดเพชรบุรีอยู่ติดอ่าวไทยจึงได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ในฤดูฝน ซึ่งมีผลทำให้ฝนตกชุก และอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาว จึงทำให้มีอากาศหนาวเย็นในช่วงเวลาดังกล่าว สามารถแบ่งฤดูกาลออกเป็น 3 ฤดู
    ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 32.13 องศาเซลเซียส
    ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 959.5 มิลลิเมตร
    ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 24.16 องศาเซลเซียส

    ในปี 2550 อุณหภูมิอากาศสูงที่สุด 37.0 องศาเซลเซียส (วันที่ 19 เมษายน 2550) อุณหภูมิอากาศต่ำที่สุด 16.0 องศาเซลเซียส (วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2550) อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยทั้งปี 28.02 องศาเซลเซียส ปริมาณฝนตกรวมทั้งปี 1,113.4 มิลลิเมตร มีจำนวนวันฝนตกวัดได้ตั้งแต่ 0.1 มิลลิเมตร จำนวน 99 วัน จากสถิติปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ปี 2537-2550 เฉลี่ยวันฝนตกประมาณปีละ 103 วัน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในรอบ 12 ปี (ปี 2539-2550) 1003.43 มิลลิเมตรต่อปี มีฝนตกมากในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม