นครปฐม

    ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวงาม
    ข้าวหลามหวานมัน สนามจันทร์งามล้น พุทธมณฑลคู่ธานี
    พระปฐมเจดีย์เสียดฟ้า สวยงามตาแม่น้ำท่าจีน

     

    ลักษณะทางภูมิประเทศ

    จังหวัดนครปฐมมีพื้นที่ 2,168,327 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,355,204 ไร่ เท่ากับร้อยละ 0.42 ของประเทศ มีความกว้างจากทิศตะวันตกที่บ้านวังอ้ายทอก ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน ถึงทิศตะวันออกที่คลองพระพิมล ตำบลนราภิรมย์ อำเภอบางเลน เป็นระยะทาง 50.25 กิโลเมตร มีความยาวจากทิศเหนือที่บ้านวัดประทุมวัน ตำบลบัวปากท่า อำเภอบางเลน ไปทางทิศใต้ถึงหมู่บ้านใหม่ เป็นระยะทาง 59.10 กิโลเมตร พื้นที่ของจังหวัดนี้มีขนาดใหม่เป็นลำดับที่ 13 ของจังหวัดในเขตภาคกลาง และเป็นลำดับที่ 62 ของประเทศจังหวัดนครปฐมตั้งอยู่บนที่ราบภาคกลางตอนล่างหรือที่ราบลุ่มบริเวณสามเหลี่ยม
    แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง พื้นดินค่อนข้างราบเรียบ มีความลาดเทประมาณ 1-2 องศา ระดับความสูงเฉลี่ยประมาณ 3 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ขณะน้ำทะเลขึ้นสูงสุดสามารถหนุนขึ้นมาตามแม่น้ำท่าจีนทำให้เกิดน้ำท่วมถึงบริเวณอำเภอสามพราน และอำเภอนครชัยศรี ภูมิประเทศของจังหวัดนครปฐมแบ่งออกได้ 3 ลักษณะ ดังนี้
    1. บริเวณที่ราบน้ำท่วมถึง พื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง มีคันดินธรรมชาติ (natural levees) ปรากฏเป็นแนวสูงเพียง 1-2 เมตรจากอำเภอสามพราน อำเภอนครชัยศรีไปจนถึงอำเภอบางเลน เลยคันดินธรรมชาติเข้าไปเป็นที่ลุ่ม มีบริเวณกว้างประมาณ 2-7 กิโลเมตร มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1 - 2 เมตร เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญ ลักษณะที่ราบนี้ปรากฏชัดในเขตอำเภอ บางเลน อำเภอนครชัยศรี อำเภอสามพราน และบริเวณตอนใต้ของอำเภอเมืองนครปฐม
    2. ลานตะพักน้ำชั้นต่ำ (lower terrace) ถัดจากที่ลุ่มต่ำไปเป็นลานตะพักน้ำชั้นต่ำ มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 2- 5 เมตร พื้นที่แถบตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ในเขตอำเภอเมืองนครปฐม อำเภอนครชัยศรี และอำเภอสามพราน มีความกว้างประมาณ 5-28 กิโลเมตร แล้วค่อยแคบลงในเขตอำเภอกำแพงแสน อำเภอดอนตูม และทางตะวันตกของอำเภอบางเลน คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 40 % ของพื้นที่จังหวัด ลักษณะดินส่วนใหญ่จะเป็นดินร่วนปนทราย บางแห่งดินตะกอนตกทับถมเป็นดอนสูงขึ้นมาประมาณ 5 เมตร ได้แก่ ดอนตูม และดอนพุทรา ในเขตอำเภอดอนตูม ตำบล ดอนเสาเกียด และตำบลดอนยายหอม ในเขตอำเภอเมืองนครปฐม เป็นต้น บริเวณลานตะพักน้ำชั้นต่ำเป็นแหล่งปลูกข้าว ปลูกพืชไร่ ผักและผลไม่ต่าง ๆ
    3. ลานตะพักน้ำชั้นกลาง (middle terrace) อยู่ถัดไปจากลานตะพักน้ำชั้นต่ำไปทางตะวันตก จนถึงเขตจังหวัดกาญจนบุรีและราชบุรี สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ระหว่าง 5-9 เมตร และมีจุดสูงสุดอยู่ที่ความสูง 15 เมตร ณ บ้านหนองโพธิ์ เขตอำเภอกำแพงแสน ลานตะพักน้ำชั้นกลาง มีความกว้างจากตะวันตกไปถึงตะวันออกประมาณ 18 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ทางตะวันตกของอำเภอกำแพงแสน และทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเมืองนครปฐม บริเวณนี้เป็นแหล่งปลูกพืชไร่สำคัญ ได้แก่ อ้อย และข้าวโพดฝักอ่อน  จึงอาจกล่าวได้ว่าลักษณะภูมิประเทศโดยรวมของจังหวัดนครปฐมเป็นพื้นที่ราบค่อนข้างสูงทางตะวันตก แล้วลาดเอียงไปทางตะวันออกถึงบริเวณแม่น้ำท่าจีนทางทิศใต้

    ลักษณะทางภูมิอากาศ

    ภูมิอากาศของจังหวัดนครปฐมจัดอยู่ในประเภทฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู (tropical savannah climate) สภาพอากาศโดยทั่วไปขึ้นอยู่กับอิทธิพลของลมมรสุม ฤดูฝนจึงมีฝนตกชุก ฤดูร้อนอากาศค่อนข้างร้อน ส่วนฤดูหนาวอากาศไม่หนาวจัด จากสถิติของสถานีตรวจอากาศเกษตรกำแพงแสน กรมอุตุนิยมวิทยาในช่วง 20ปี(พุทธศักราช 2515 – 2535)เฉลี่ยแล้วอุณหภูมิทั้งปีประมาณ 28 องศาเซลเซียส โดยฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนและแห้ง อุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน เฉลี่ย 36.8 องศาเซลเซียส และมีลมพัดจากอ่าวไทยเข้าสู่จังหวัดนครปฐมทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
    ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่าน มีปริมาณฝนรวมต่อปี 1,002.1 มิลลิเมตร มีจำนวนวันที่ฝนตกเฉลี่ย 101.8 วัน โดยฝนจะทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม และจะตกชุกในเดือนกันยายน ช่วงฤดูฝนมีความชื้นสัมพันธ์เฉลี่ย 72 %
    ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดพาความหนาวมาสู่ประเทศไทย โดยมีลักษณะอากาศหนาวเย็นเป็นช่วง ๆ ช่วงหนาวที่สุด จะอยู่ในราวปลายเดือนธันวาคมถึงสิ้นเดือนมกราคม อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 17.2 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพันธ์เฉลี่ย 34 – 40 %